กลุ่มกฎหมายและคดี
เค้าโครงผลการปฏิบัติงานหรือผลสำเร็จของงาน : “การสอบสวนวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากการชี้มูลความผิดของหน่วยตรวจสอบของรัฐซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดลำพูน)”
ระยะเวลาการดำเนินการ ระหว่างเดือนเมษายน 2566 - เมษายน 2567
ความรู้ ความชำนาญงาน หรือความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537, ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560, กฎ ก.ค.ศ. และความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ ในการสืบสวน-สอบสวน คิดวิเคราะห์ ปรับข้อเท็จริงเข้ากับหลักกฎหมายและสรุปผล
สรุปสาระสำคัญของผลงาน ขั้นตอนการดำเนินงาน และเป้าหมายของงาน โดยสรุป
สรุปสาระสำคัญของผลงาน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดลำพูน ได้ตรวจสอบการจ้างก่อสร้างโรงอาหาร 84 ที่นั่ง โรงเรียนบ้านแม่ป้อก อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จำนวน 1 หลัง โดยวิธีคัดเลือกตามหนังสือเลขที่ ตผ 0058.2 ลพ/3 ลงวันที่ 27 เมษายน 2566 ซึ่งปรากฎว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ก่อให้เกิดความเสียหาย และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของงานก่อสร้างให้ถูกต้องเป็นไปตามรูปแบบรายการระเบียบกฎหมายกำหนด และพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 3,172.69 บาท คืนให้แก่ทางราชการด้วย ข้อวินิจฉัยของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดลำพูนดังกล่าว เป็นกรณีความผิดปรากฎชัดแจ้ง มีการระบุตัวผู้กระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่มีการสืบสวนข้อเท็จจริงอีก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรงข้าราชการครู 3 ราย โดยมีการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา พิจารณาพยานหลักฐาน พยานบุคคล ประชุมพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ ผลการปฏิบัติงานนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทุกขั้นตอนตามกฎหมาย โดยสพฐ.เห็นชอบกับการดำเนินการทางวินัยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 และความเห็นของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูนเขต 2
ขั้นตอนการดำเนินงาน
การวางแผน ขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย เริ่มตั้งแต่การตั้งเรื่องกล่าวหา โดยผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง (สว.1) และคณะกรรมการได้มีการประชุมกันในเรื่องดังกล่าวเพื่อวางแนวทางการสอบสวน พิจารณาเรื่องที่กล่าวหา กำหนดข้อกล่าวหา ศึกษาข้อเท็จจริง กำหนดประเด็นที่จะสอบสวน พยานหลักฐาน พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนในการดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด
การปฏิบัติงาน คณะกรรมการได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ (สว.2) พร้อมทั้งแจ้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา โดยถามว่าผู้ถูกกล่าวหาจะรับสารภาพหรือไม่ (ภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง) กรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพ จึงงดการสอบสวน และบันทึกถ้อยคำรับสารภาพ ลงใน สว.4 เหตุผลในการรับสารภาพ ข้อเท็จจริงในการกระทำทั้งหมดตามรายละเอียดที่ระเบียบกฎหมายกำหนด และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงชื่อในบันทึกและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด เพื่อเสนอผู้แต่งตั้งฯ
เป้าหมายของงาน เป็นการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแสวงหาความจริง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่ภาครัฐ
ผลสำเร็จของงาน (เชิงปริมาณ/คุณภาพ)
เชิงปริมาณ รายงานการสอบสวนวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 2 สำนวน
เชิงคุณภาพ การดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ถูกต้องทั้งตามเนื้อหาและกระบวนการเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคลและการบังคับใช้กฎหมายภายในหน่วยงาน ผลการดำเนินงานนี้มีความน่าสนใจที่การสอบสวนทางวินัยเกิดจากการชี้มูลความผิดโดยหน่วยตรวจสอบของรัฐซึ่งเป็นองค์กรอิสระ คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดลำพูน ซึ่งมีหน่วยงานอิสระของรัฐในลักษณะเดียวกัน คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่เป็นหน่วยตรวจสอบและสามารถชี้มูลการกระทำความผิดเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะเช่นนี้ได้ และต้องพิจารณากฎหมายหลายฉบับประกอบการดำเนินการสอบสวนและการพิจารณา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้หน่วยงานมีบรรทัดฐานในการดำเนินการทางวินัยต่อไป
การนำไปใช้ประโยชน์/ผลกระทบ ใช้เป็นบรรทัดฐานการดำเนินการทางวินัยจากการชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
ความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินการ ฐานอำนาจ สิทธิ หน้าที่ ขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดจนเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินการทางวินัยกรณีนี้มีความละเอียด หลากหลายฉบับ
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน บุคลากรภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มีจำนวนจำกัด และการสอบสวนทางวินัยไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ถ้อยคำที่เป็นจริงและครบถ้วน
ข้อเสนอแนะ ให้มีการอบรมที่จำเป็นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย การอบรมและพัฒนาบุคลกรที่จำเป็นด้านต่างๆ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมแก่บุคลากรในสังกัด เพื่อป้องกันการกระทำความผิดไม่ให้เกิดขึ้นอีก
การเผยแพร่ผลงาน นำเสนอเป็นกรณีศึกษาด้านกฎหมายและข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางวินัยต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารสถานศึกษาหน่วยงาน (โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ถูกกล่าวหา)
ผู้มีส่วนร่วมในผลงาน/ผู้ร่วมดำเนินการ
1. ว่าที่ ร.ต.อานนท์ หล้าหนัก ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่าไผ่ สัดส่วนผลงานร้อยละ 10
2. นางสาววิลาวรรณ กองดา ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน สัดส่วนผลงานร้อยละ 10
ข้อเสนอแนวคิดในการพัฒนางานหรือปรับปรุงงาน
เรื่อง การรักษาผลประโยชน์ของรัฐจากการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง : ศึกษาคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน กรณีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
The Preserving of the state interests by the use of Administrative measures :
Study of administrative order for the compensation in monetary terms of
the violation of the officials in The Primary Educational Service Area Office, Lamphun 2
หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีการดำเนินการทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด และมีคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ต่อมาผู้อยู่ภายใต้คำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าคำอุทธรณ์ดังกล่าวไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ จึงได้ดำเนินการตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) รายงานความเห็นพร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ คือ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีอำนาจตามกฎหมายในการเพิกถอนคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย เปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดก็ได้ หากไม่เห็นชอบกับคำสั่งทางปกครองของ สพป.ลพ. 2 หรือพิจารณาอุทธรณ์โดยมีคำสั่งเห็นชอบตามคำสั่งเดิม ซึ่งผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสามารถโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวโดยเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป แต่ในกรณีคำอุทธรณ์ถึงที่สุดโดยไม่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาล จะเข้าสู่ขั้นตอนการเรียกให้ชำระค่าเสียหาย หากไม่มีการชำระเงินให้ถูกต้องครบถ้วน จะเป็นการใช้บังคับใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยผู้ทำคำสั่งทางปกครอง (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ) เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้รับชำระเงินค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดทางละเมิดต่อไป
บทวิเคราะห์/แนวคิด/ข้อเสนอและข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข
มาตรการบังคับทางปกครอง มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาที่คำสั่งเรียกให้ชำระเงินของหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นคำสั่งภายในองค์กรฝ่ายปกครอง ที่สภาพบังคับยังไม่มีความศักดิ์สิทธิเทียบเท่าคำพิพากษาหรือคำสั่ง ของศาล และทำให้เกิดปัญหาในการขอให้สถาบันการเงิน ธนาคาร สหกรณ์ หรือแม้กระทำหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองอย่างสำนักงานที่ดิน ดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้ออกคำสั่งสามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ครบถ้วนได้ การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครอง ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จึงมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมในส่วนของ การบังคับทางปกครอง ส่วนที่ 2 การบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่มเติมและมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นฐานอำนาจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ในการออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองอีกด้วย จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อกำหนดกระบวนการในการบังคับใช้มาตรการบังคับทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มกฎหมายและคดี และ สำนักงานเขตฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เพื่อศึกษากรณีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 และการออกคำสั่งทางปกครองกำหนดให้ชำระเงินค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ถึงขั้นตอนการดำเนินงานและเนื้อหาที่กฎหมายกำหนด
2. ศึกษาการใช้มาตรการบังคับทางปกครองทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดขั้นตอนที่ถูกต้องและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการ
3. เพื่อวางแผนการดำเนินการและการบริหารความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด
ตัวชี้วัดความสำเร็จ
1. ทบทวนกระบวนการ ขั้นตอนในการดำเนินงานและเนื้อหาของคำสั่งทางปกครองที่เรียกให้ชำระหนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
2. กำหนดขั้นตอนที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินงาน และหน่วยงานที่ต้องประสานงานได้ถูกต้องในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองที่ให้ชำระเงิน
3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนภายใน อายุความที่กฎหมายกำหนด
ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือนโยบายของส่วนราชการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ยุทธศาสตร์ชาติที่ 1 ด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2561-2580) : เพื่อบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ และทุกมิติ
ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ : ด้านการปราบปราม โดยมีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ เพื่อการยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง หรือมาตรการทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ หรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด และปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ให้รวดเร็ว เป็นธรรม เสมอภาค ตลอดจนเร่งรัดติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำความผิดให้ตกเป็นของแผ่นดิน