[x] ปิดหน้าต่างนี้
KMOBECMAXSITE 1.2.1
กลุ่มอำนวยการ
เรื่อง : การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ กรณี “ป่าจี้โมเดล - ท่วมได้แต่ไม่เสียหาย”


TOP HIT
กลุ่มอำนวยการ

- ผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ(KRS+ARS)ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีค่าสูงเป็นลำดับที่ 7 ของประเทศ(4.61845) [ 1487 ]
- ความพึงพอใจคุณภาพการให้บริการของ สพป.ลำูพูน เขต 2 [ 1104 ]
- เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู [ 1040 ]
- การสังเคราะห์การจัดกิจกรรมจิตสาธารณะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 [ 832 ]
- การพัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 [ 805 ]

 การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ  กรณี  “ป่าจี้โมเดล - ท่วมได้แต่ไม่เสียหาย”

.................................

เหตุผล  ความจำเป็นหรือความเป็นมาของผลงาน

สืบเนื่องจากปี  2554  ได้เกิดมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย  สร้างความเสียหายแก่ชีวิต  ทรัพย์สิน  บ้านเรือน  ไร่นา  ร้านค้า  ตลอดจนหน่วยงานราชการ  วัด  และสถานศึกษา  ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้โรงเรียนที่อยู่ในสังกัด  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน  เขต 2  ซึ่งอยู่ในจุดเสี่ยงภัยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน  ได้แก่ โรงเรียนบ้านป่าจี้  โรงเรียนบ้านม่วงสามปี  โรงเรียนบ้านแม่กองวะ อำเภอลี้ โรงเรียนบ้านทุ่งหัวช้าง  อำเภอทุ่งหัวช้าง  และ โรงเรียนวัดวังสะแกง อำเภอเวียงหนองล่อง  โดยเฉพาะ โรงเรียนบ้านป่าจี้นั้น เป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ  และมักจะได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลากเป็นประจำ ซึ่งในแต่ละปีมีความเสียหายเกิดขึ้น  โดยโรงเรียนและชุมชนได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ไว้เพียงการยกทรัพย์สินขึ้นในระดับความสูงเดิมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  และไม่ได้เตรียมเครื่องป้องกันเหตุการณ์อุทกภัยไว้เป็นพิเศษ จนกระทั่งเมื่อปี 2554  ได้เกิดวิกฤติขึ้น  เมื่อมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักและต่อเนื่อง มาตั้งแต่               เดือนเมษายน  2554 และถัดมาในช่วงเดือนพฤษภาคม  2554 จากพายุHaima  ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำลี้ทางด้านหลังโรงเรียนไหลเข้าท่วมภายในบริเวณ โรงเรียนอย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณน้ำสูงสุดประมาณ          2.50 เมตร นับเป็นความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า

โดยความเสียหายที่เกิดกับ  โรงเรียนบ้านป่าจี้  อย่างซ้ำซ้อนนั้น ได้แก่  อาคารเรียน  อาคารประกอบ  ตู้เอกสารต่างๆ  ชั้นวางหนังสือในห้องสมุด  อุปกรณ์การเรียนการสอนและอุปกรณ์โรงครัว  คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอที  ตลอดจนภูมิทัศน์ของโรงเรียน  ทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอน  เพื่อซ่อมแซมอาคาร และแก้ไขความเสียหายต่างๆ ให้โรงเรียนสามารถกลับมาทำการเรียนการสอนได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีครอบครัวของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในปี  2554 ด้วย  ทั้งนี้นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน  เขต 2  จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังกล่าวข้างต้น  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  จึงตระหนักและเห็นความสำคัญในการป้องกัน  บรรเทา  และแก้ไขปัญหา เนื่องจากความเสียหายจากอุทกภัยนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่สามารถเรียนรู้และปรับตัวที่จะดำเนินชีวิตประจำวันให้ปลอดภัยได้         สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  จึงได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านป่าจี้  และชุมชนที่อยู่รายล้อมโรงเรียน จัดทำ โครงการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ กรณี  “ป่าจี้โมเดล - ท่วมได้แต่ไม่เสียหาย” 

 

 

 

วิธีการดำเนินงานของสพป.ลำพูน  เขต  2

ในการดำเนินโครงการดังกล่าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ได้ดำเนินการดังนี้

1.   แต่งตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน  เขต  2  ที่ 168/2554  ลงวันที่  11  พฤษภาคม  2554 โดยมีหน้าที่เฝ้าระวัง     การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุการณ์ให้รีบดำเนินการรายงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ทราบโดยเร่งด่วน

2.   จัดทำประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  เรื่อง  มาตรการการดำเนินการกรณี  ป้องกันและการเกิดอุทกภัย ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2554

3.   แจ้งเตือนประกาศดังกล่าวไปยัง โรงเรียนที่อยู่ในจุดเสี่ยงภัย พร้อมทั้งสร้างความตระหนักในเรื่องภัยธรรมชาติ

4.   ติดตามการรายงานสถานการณ์การเกิดอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ โรงเรียนบ้านป่าจี้ ซึ่งได้รับการติดตามการดำเนินการตามมาตรการการดำเนินการกรณี  ป้องกันและการเกิดอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการของโรงเรียนบ้านป่าจี้ ดังนี้

4.1 เป็นแกนนำหลักในการระดมทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ร่วมกับ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล  ซึ่งกำหนดทางเลือก ได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่

   (1) ดำเนินการตามนโยบายโรงเรียน ขนาดเล็ก โดยจะทำการรวมกับ โรงเรียน                 บ้านดงสักงาม

   (2) จัดทำมาตรการตั้งรับและดำเนินการเชิงรุก

   ทั้งนี้ในที่ประชุมดังกล่าว  ได้เลือกแนวทาง ที่ (2) คือการดำเนินมาตรการตั้งรับและดำเนินการเชิงรุก เพราะผู้ปกครองไม่ต้องการให้มีการรวมโรงเรียน เนื่องจากเห็นว่าโรงเรียนจะตกอยู่ในสภาพทิ้งร้าง  ดังนั้นจึงได้ดำเนินมาตรการตั้งรับและดำเนินการเชิงรุก ดังนี้

   4.1.1 ด้านบุคลากร

   (1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหารโรงเรียนเห็นความสำคัญในการป้องกันภัยจากน้ำท่วม  และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต        และทรัพย์สิน  ทั้งส่วนตัวและราชการ

   (2) ผู้บริหารโรงเรียน ครู  นักเรียน  และผู้ปกครอง  ตลอดจนชุมชน  ร่วมมือกันป้องกัน          และแก้ไขปัญหา  ตามแนวทางและมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มแข็ง

   4.1.2 ด้านอาคารสถานที่

    (1) จัดทำรั้วรอบบริเวณโรงเรียนทุกด้านเพื่อเป็นด่านแรกในการป้องกันน้ำ

                        (2) จัดทำพนังกั้นน้ำบริเวณใต้ถุนอาคารเรียน

    (3) ประสานองค์การบริหารส่วนตำบลป่าไผ่ เพื่อทำการขุดร่องน้ำด้านหน้า โรงเรียนและจัดทำเป็น          flood way ไปสู่ด้านข้างโรงเรียน  และลงสู่แม่น้ำลี้ต่อไป

   4.1.3  ด้านวัสดุครุภัณฑ์

    (1) ทำการเคลื่อนย้ายวัสดุที่เคลื่อนย้ายได้  เช่น  โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เอกสารต่างๆ ขึ้น              บนอาคารชั้น 2

                        (2) ย้ายที่ตั้งของห้องสมุด และห้องคอมพิวเตอร์ไปประจำการบนอาคารชั้น 2                   เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย

                        (3) จัดทำชั้นวางของติดผนังในอาคารชั้น 1 เพื่อจัดเก็บสิ่งของไว้บนที่สูง

4.1.4    ด้านการประสานงาน

                         (1) ประสานงานกับผู้ปกครอง และชาวบ้านในชุมชนรายล้อมโรงเรียน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังภัยพิบัติ รวมถึงขอความร่วมมือในการปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม การเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และการฟื้นฟูทำความสะอาดโรงเรียนหลังเกิดน้ำท่วม

                         (2) ประสานงานกับ องค์การบริหารส่วนตำบลป่าไผ่ เพื่อติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังการเปิด-ปิด ฝายทดน้ำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับ รถ เจ้าหน้าที่ กระสอบทราย ในการเผชิญสถานการณ์อุทกภัยทุกเวลา

5    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  ดำเนินการประสานงาน เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการมาตรการตั้งรับและดำเนินการเชิงรุกดังกล่าว ให้สามารถดำเนินการเตรียมความพร้อมได้สำเร็จ

ผลสำเร็จที่ได้รับจากงานจนเกิดความภาคภูมิใจ

จากการผลักดันโครงการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ กรณี  “ป่าจี้โมเดล - ท่วมได้แต่ไม่เสียหาย” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  นั้นได้รับผลสำเร็จจนเกิดเป็นความภาคภูมิใจ ดังนี้

1.   โรงเรียนบ้านป่าจี้ สามารถเตรียมความพร้อมตามมาตรการตั้งรับและดำเนินการเชิงรุก ได้สำเร็จ จนกระทั่งใน  เดือนตุลาคม  2554 ที่เกิดเหตุการณ์พายุNesat เข้าโจมตีประเทศไทย โรงเรียนบ้านป่าจี้ เกิดน้ำท่วมขังภายในบริเวณเพียงเล็กน้อย และไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงเท่าเมื่อครั้งที่เกิดเหตุอุทกภัย เมื่อเดือน พฤษภาคม ในปีเดียวกัน อีกทั้ง  โรงเรียนบ้านป่าจี้ ยังสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดย               การปรับปรุงความพร้อมด้านอาคารสถานที่เพื่อเผชิญเหตุการณ์อุทกภัย จนได้รับรางวัลส้วมสุขสันต์ ประจำปีการศึกษา 2554  อีกทั้งยังมีขวัญกำลังใจที่ดีขึ้นจนสามารถพัฒนางานด้านวิชาการจน โรงเรียนได้รับรางวัล  รักการอ่าน ประจำปีการศึกษา 2554 อีกด้วย จึงถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้เห็นถึงความพยายามและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการทำงานและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

2.   บุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  ผู้บริหารโรงเรียน    คณะครู  นักเรียน  ผู้ปกครอง  ตลอดจนผู้นำชุมชน และชาวบ้านในชุมชนที่อยู่รายล้อมโรงเรียน เกิดการเรียนรู้ในการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการป้องกัน บรรเทาภัยธรรมชาติ  และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ

3.   บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เกิดการเรียนรู้ การทำงานอย่างมีส่วนร่วม  การวางแผน และประสานงานกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ เช่น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นซ้ำในเดือนตุลาคม ปี 2554 นั้น โรงเรียนบ้านป่าจี้มีปริมาณน้ำท่วมขังเพียงเล็กน้อยก็จริง แต่เนื่องจากสภาพของดินมี  การอุ้มน้ำเป็นจำนวนมากมาเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้การระบายน้ำออกจากบริเวณโรงเรียนทำได้ยากและมีความล่าช้า ทางองค์การบริหารส่วนตำบลป่าไผ่ จึงเร่งประสานขอยืมเครื่องสูบน้ำจากเทศบาลตำบลวังดิน เพื่อมาระดมสูบน้ำออกจากโรงเรียนและช่วยทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กับโรงเรียน จนโรงเรียน กลับมามีสภาพ “น่าอยู่น่าเรียน” เช่นเดิม  ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า  โรงเรียนบ้านป่าจี้ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จนสามารถเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านอื่นๆ ได้แก่ แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม  วาตภัย และอัคคีภัยได้

4.   ผลจากการดำเนินงานตามโมเดลดังกล่าว  เป็นการประหยัดงบประมาณของราชการ  และลดภาระการระดมทุนจากภายนอกได้เป็นอย่างมาก  จึงถือได้ว่า  “ป่าจี้โมเดล”  เป็นการประพฤติปฏิบัติของบุคลากรเยี่ยงวิญญูชนโดยแท้  ควรแก่ความภาคภูมิใจและยกย่อง

                                                          กลุ่มอำนวยการ

                                                                       สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต ๒

 

ผู้เขียน : ดวงกมล ดวงสุภา
หน่วยงาน : สพป.ลำพูน เขต 2
ศุกร์ ที่ 19 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2555
เข้าชม : 24936 

| เข้าชม : 780 |
ผู้เขียน : พงศ์พล ห่อตระกูล
หน่วยงาน : สพป.ลำพูน เขต 2
อังคาร ที่ 17 เดือน มีนาคม พ.ศ.2558
Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้