[x] ปิดหน้าต่างนี้
KMOBECMAXSITE 1.2.1
กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา
เรื่อง : การพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิการเรียนร่วม ส่วนที่ 3


TOP HIT
กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา

- การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรม มีความสำนึกในความเป็นชาติไทย ของ สพป.ลำพูน เขต 2 [ 1779 ]
- รายงานการดำเนินงานคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 [ 1409 ]
- การดำเนินงานส่งเสริมการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 [ 1245 ]
- การพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิการเรียนร่วม ส่วนที่ 4 [ 884 ]
- “สัปดาห์ประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน” (Classroom Meeting) [ 883 ]

 การพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิการเรียนร่วม

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2
 
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการแต่ละประเภท                        
3. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
            เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ ภาษาและสติปัญญาล่าช้ากว่าเด็กปกติ เมื่อวัดสติปัญญาโดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานแล้วปรากฎว่ามีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติโดยทั่วไป
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาแบ่งตามระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับคือ
1.       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับน้อย (เชาว์ปัญญา 50-70) เป็นเด็กที่มีความ
บกพร่องทางสติปัญญาที่เรียนหนังสือได้
2.       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับปานกลาง (เชาว์ปัญญา 35-49) เป็นเด็กที่พอ
ฝึกอบรมได้
3.       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรง (เชาว์ปัญญา20-34) เป็นเด็กที่ต้องได้รับ
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และได้รับการดูแลที่เหมาะสม
4.       เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรงมาก (เชาว์ปัญญาต่ำกว่า 20) เป็นเด็กที่มี
ความบกพร่องทางสติปัญญาที่มีความจำกัดเฉพาะด้านต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
 
การให้ความช่วยเหลือ
                เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาการพัฒนาทางด้านต่างๆจะน้อยกว่าเด็กปกติ ครูผู้สอนต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงความรุนแรงของความบกพร่องของเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้แก่
1.       การเตรียมความพร้อมให้กิจกรรมหลากหลายแตกต่างกันเริ่มจากง่ายๆไปหายาก
2.       การจัดนันทนาการเป็นการทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานผ่อนคลายทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการให้เด็กสามารถรู้กฎกติกาและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3.       การปรับพฤติกรรม เช่น การให้แรงเสริม การเป็นแบบอย่างที่ดี การให้รางวัลเป็นต้น
เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่ไม่พึงประสงค์เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้
4.       การจัดศิลปะบำบัด เป็นวิธีการบำบัดสิ่งที่เป็นจริงที่เกี่ยวกับความคิด เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรค์หรือกระทำในสิ่งที่เขาคิดให้เป็นจริงหรือเป็นสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้ ซึ่งเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กน้อยด้วย
การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญากับเด็กปกติ
                การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับความสามารถของเด็กๆ แต่ละคนซึ่งเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่เรียนและฝึกอบรมได้นั้นควรจัดดังนี้
1.       ระดับก่อนประถมศึกษา ครูควรแนะนำพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวให้ความรักเอา
ใจใส่ และเลี้ยงดูอย่างอบอุ่น เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ถ้ามีชั้นก่อนประถมศึกษาใกล้บ้านควรให้เด็กได้เข้าชั้นก่อนประถมศึกษาก่อน ที่จะไปโรงเรียนปกติ
2.       ระดับประถมศึกษา แนะนำผู้ปกครองให้สอนเด็กที่บ้าน สอนเกี่ยวกับตัวเอง เช่น ชื่อ
สกุล อายุ พ่อแม่ ที่อยู่ การช่วยเหลือตัวเอง สอนมารยาทที่จำเป็นในสังคมในชุมชน การไหว้ 
การกล่าวคำขอโทษ ขอบคุณ เป็นต้น
3.       ระดับมัธยมศึกษา เมื่อได้รับการศึกษาและฝึกอาชีพอย่างเพียงพอสามารถประกอบ
อาชีพ และอยู่ในสังคมได้ บุคคลกลุ่มนี้ ต้องการดูแลและเอาใจใส่รวมทั้งต้องการคำแนะนำ ปรึกษา จากผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
 
การประเมินผล
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเรียนได้ ซึ่งมีเชาว์ปัญญา 50-70 การประเมินผล
ควรเป็นไปตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลของนักเรียนแต่ละคนควรมีการประเมินผลจุดมุ่งหมายระยะยาว เพื่อปรับปรุงแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลของนักเรียนแต่ละคนให้เหมาะสม ในการประเมินผลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ควรมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กให้มากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนการต่างๆ มากน้อยเพียงใดและควรปรับปรุงวัตถุประสงค์ใดบ้าง
                สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับฝึกอบรมได้ ซึ่งมีเชาว์ปัญญา 35-49 การประเมินผลจะต้องสอดคล้องกับแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยกำหนดจุดมุ่งหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การประเมินจะต้องเป็นไปตามจุดมุ่งหมายเหล่านั้น จุดมุ่งหมายระยะสั้นควรมีการประเมินทุกระยะ เช่น ทุกเดือน หรือทุกสามเดือน จุดมุ่งหมายระยะยาว ประเมินอย่างน้อยปีละครั้งและในการประเมินแต่ละครั้งต้องมีข้อมูลครบถ้วน
 
 
 
 
4. เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว
                เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติของแขน ขา หรือลำตัวรวมถึงศีรษะเป็นเด็กที่มีความผิดปกติบกพร่องหรือสูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดีเท่าคนปกติแต่ไม่ได้หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแม้ว่าดวงตาและระบบการได้ยินเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายก็ตาม เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือเคลื่อนไหวสามารถสังเกตได้ดังนี้
1.       ร่างกายเติบโตไม่ปกติ เช่น แขนหรือขาไม่เท่ากันทั้งสองข้าง ลำตัวเล็กผิดปกติอวัยวะ
ผิดรูป เช่น เท้าติด เอวคด หลัง-ลำตัวโค้งงอผิดปกติ แขนขาด้วน
2.       กล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น แขน-ขา ลำตัวลีบ ไม่มีแรงอย่างคนปกติ
3.       ไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ เช่น ไม่สามารถเคลื่อนลำตัว แขน-ขา มือหรือเท้า
ได้อย่างคนทั่วไป
4.       ไม่สามารถนั่ง ยืนได้ด้วยตนเอง
5.       ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ถอด-ใส่
เสื้อผู้ได้ด้วยตนเอง
 
การให้ความช่วยเหลือ
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวอาจมีความบกพร่องหลายอย่างใน
บุคคลเดียว การฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการจึงจำเป็นต้องมีหลายด้านตามสภาพความบกพร่องของเด็กแต่ละบุคคลซึ่งการบำบัดฟื้นฟูต่างๆ ได้แก่
กายภาพบำบัด
เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายตั้งแต่แรกเริ่มในด้านต่างๆ เช่น การทรงตัว การนั่ง
หรือการยืนทรงตัวเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆในลักษณะที่ถูกต้อง เป็นพื้นฐาน
ในการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องต่อไป
กิจกรรมบำบัด
เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อเน้นให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด สามารถ
ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและเร็วที่สุด สามารถอยู่อย่างปกติสุขเช่นคนทั่วไปโดยเน้นทักษะกล้ามเนื้อย่อย เช่น การรับประทานอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว เป็นต้น
 
 
 
อรรถบำบัดหรือการแก้ไขคำพูด
ในส่วนที่เด็กมีความบกพร่องทางการพูดจะต้องฝึกการควบคุมน้ำลาย การกลืน การเคี้ยว
อาหาร ฝึกโดยใช้อุปกรณ์ประเภทเครื่องเล่นที่เกี่ยวกับการออกเสียง เครื่องดนตรีชนิดเป่า การเป่ากระดาษหรืออุปกรณ์ชนิดอื่นๆให้เด็กได้รู้ว่าคนเราพูดเมื่อเวลาหายใจออกเท่านั้น
                ศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัด
                เป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาเด็กที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆให้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพโดยคำนึงถึงความสนุกสนาน ความต้องการธรรมชาติรวมถึงความจำเป็นของเด็กเป็นรายบุคคล
 
การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายกับเด็กปกติ
                การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหวได้แบ่งระดับของกิจกรรมการเรียนไว้ 3 ระดับคือ
1.       ระดับก่อนวัยเรียน จุดมุ่งหมายสำคัญของการให้การศึกษาแก่เด็กที่มีความบกพร่อง
ทางด้านร่างกายคือ การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเรียนร่วม เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนร่วมกับเด็กปกติ ความพร้อมที่ควรจะได้รับการเตรียมในระดับนี้ได้แก่ ความพร้อมในการเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเอง ทักษะทางสังคมและพัฒนาการทางภาษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายควรได้รับบริการทางด้านการบำบัดควบคู่กันไป การบำบัดที่จำเป็นได้แก่กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดและการบำบัดทางภาษา
2.       ระดับประถมศึกษา เด็กอาจเริ่มเรียนรวมกับเด็กปกติในลักษณะของการเรียนร่วมเต็ม
เวลาได้โดยไม่ต้องการการบริการพิเศษเพิ่มเต็ม เช่น เด็กที่ใช้แขนหรือขาเทียม ซึ่งสามารถใช้หรือขาเทียมได้ดี ระดับสติปัญญาปกติและไม่มีความพิการด้านอื่นเด็กประเภทนี้สามารถเรียนร่วมเต็มเวลาได้ เด็กที่มีความสามารถบกพร่องทางร่างกายอื่นก็สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ หากเด็กได้รับการเตรียมความพร้อมแล้วและทางโรงเรียนจัดบริการเพิ่มเติมให้กับเด็ก การพิจารณาจัดเด็กเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติพิจารณาเด็กเป็นรายบุคคล
3.       ระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเน้นด้านวิชาการและพื้นฐานด้านการ
งานและอาชีพหากเด็กมีความพร้อมควรให้เด็กมีโอกาสเรียนร่วมเต็มเวลาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เด็กที่จะเรียนร่วมได้ดีควรเป็นเด็กที่สามารถช่วยตัวเองได้ในด้านการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจวัตรประจำวันมีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นและมีพื้นฐานอาชีพใกล้เคียงกับเด็กปกติ อย่างไรก็ตามเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายอาจยังต้องการบริการพิเศษ เช่น การบำบัดทางกายภาพ กิจกรรมบำบัด การแก้ไขคำพูดเบื้องต้น การพิจารณาส่งเด็กเข้าเรียนร่วมจะต้องพิจารณาความสามารถและความพร้อมของเด็กเป็นรายๆไป ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถและระดับความพร้อมแตกต่างกัน
 
การประเมินผล
                การประเมินผล ควรดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพราะบุคคล มีการประเมินผลระยะสั้นทุกภาคเรียน และมีการประเมินผลระยะยาวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การประเมินผลต้องมีผลสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่วางไว้ในแผนการศึกษา มีกาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กให้มากที่สุด เพื่อให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพ และข้อมลยังจำเป็นสำหรับการวางแผนระยะยาวอีกด้วย
 
ผู้เขียน : ชลลดา สะอาดวงค์
หน่วยงาน : กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา
พฤหัสบดี ที่ 29 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2553
| เข้าชม : 620 |
ผู้เขียน : พงศ์พล ห่อตระกูล
หน่วยงาน : -
พุธ ที่ 11 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558
Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้