[x] ปิดหน้าต่างนี้
KMOBECMAXSITE 1.2.1
กลุ่มการเงินและสินทรัพย์
เรื่อง : การจัดทำบัญชีภาครัฐผ่านระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS : Government Fiscal Management informant System) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2


TOP HIT
กลุ่มการเงินและสินทรัพย์

- การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคา ด้วยระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e –GP) [ 1681 ]
- การเสริมสร้างประสิทธิภาพการควบคุมเงินประจำงวด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 [ 826 ]
- การจัดทำบัญชีภาครัฐผ่านระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS : Government Fiscal Management informant System) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 [ 770 ]
- แนวทางการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษา [ 703 ]
- การเพิ่มศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [ 283 ]

 

 เรื่อง  การจัดทำบัญชีภาครัฐผ่านระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  (GFMIS : Government Fiscal Management informant System) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2

 ระยะเวลาที่ดำเนินการ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562

 ความรู้ทางวิชาการหรือแนวคิดที่ใช้ในการดำเนินการ

การจัดทำบัญชีของหน่วยงานเป็นงานที่ต้องปฏิบัติร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการนำข้อมูลทางการเงินและบัญชีที่น่าเชื่อถือไปใช้ในการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งความรู้เผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งระบบบัญชีของส่วนราชการปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่บันทึกรายการบัญชีด้วยมือเป็นการบันทึกรายการบัญชีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในการปฏิบัติงานแต่สิ่งที่ยังคงต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติต่างๆ  ซึ่งระเบียบหลักที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีของส่วนราชการต้องยึดถือและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562  

ทั้งนี้จากการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารการเงินการคลังที่ปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายปฏิรูประบบราชการ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เปลี่ยนหลักการบัญชีภาครัฐจากเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) เป็นเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis)  มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายเงินโดยให้ส่วนราชการมีการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS)  ส่งผลให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบแนวปฏิบัติ  ผู้ปฏิบัติงานต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  มีการศึกษา ทบทวน กฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและเพื่อให้การจัดทำบัญชีของส่วนราชการเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันรวมทั้งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลัง  ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติตามแนวทางในคู่มือการบัญชีภาครัฐสำหรับส่วนราชการ  ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังมีการปรับปรุงระเบียบรวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาระบบ GFMIS ตลอดจนผังบัญชีมาตรฐาน อาจส่งผลให้ต้องปรับปรุงวิธีการบันทึกรายการบัญชีตามคู่มือการบัญชีภาครัฐให้สอดคล้องกับระเบียบ , ระบบ GFMIS และผังบัญชีมาตรฐานที่ได้ปรับปรุงใหม่ต่อไปและสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การจัดทำบัญชีและการตรวจสอบข้อมูลบัญชีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ การจัดเก็บเอกสารให้เป็นระบบ  มีการนำความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างมีคุณภาพให้รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ลดขั้นตอนกระบวนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นลงเพื่อลดการปฏิบัติด้านเอกสารและระยะเวลาให้มีการใช้บุคลากรอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด

4.                       สรุปสาระและขั้นตอนการดำเนินการ

การปฏิบัติงานด้านบัญชี  เป็นการวิเคราะห์รายการที่เกิดจากการเบิกเงิน การจ่ายเงิน     การยืมเงิน การรับเงิน การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง นำไปบันทึกบัญชีแยกประเภทแต่ละรายการให้มีความถูกต้อง ชัดเจน เป็นการควบคุมการรับ-จ่ายเงิน ของหน่วยงานเพื่อการบริหารงบประมาณให้ถูกต้องตามวิธีการงบประมาณ  โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามระบบ  การบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ต้องดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติงานตามหลักการและนโยบายบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐ  โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของงาน เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ความคุ้มค่า ของการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้  การปฏิบัติงานด้านบัญชีต้องเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีของส่วนราชการที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานตามรอบระยะเวลาบัญชีตามปีงบประมาณด้านบัญชีการเงินและด้านบัญชีบริหาร จำนวน 4 เรื่อง  ดังนี้

1.     ความถูกต้อง (Accuracy) 

2.     ความโปร่งใส (Transparency) 

3.     ความรับผิดชอบ (Accountability)

4.     ความมีประสิทธิผล (Effectiveness)  

ขั้นตอนการดำเนินการ

1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ กิจกรรมและนโยบายรัฐบาล  กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดลำพูนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ตลอดจนบทบาท หน้าที่ ภารกิจ ของหน่วยงาน รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ บทบาท หน้าที่ ปัญหาและอุปสรรคของภาระงานที่ต้องปฏิบัติ  ศึกษาและทบทวนกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง คู่มือการปฏิบัติงานและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง                          

          2. จัดทำปฏิทินการปฏิบัติงาน ตามแนวปฏิบัติที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด เกี่ยวกับระยะเวลาในการจัดส่งรายงานของส่วนราชการ

          3. รวบรวมข้อมูลและหลักฐานแสดงรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการจัดทำบัญชี

          4. วิเคราะห์รายการบัญชีเพื่อบันทึกรายการในสมุดบัญชีและทะเบียนคุม/บัญชีย่อยเพิ่มเติมตามระบบควบคุมการเบิกจ่ายเงินที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดโดยการนำโปรแกรม EXCEL  มาประยุกต์ใช้ในการบันทึกข้อมูลรายการที่มีปริมาณมาก แทนการบันทึกด้วยมือ (Manual)

5. การบันทึกรายการ

              5.1 บันทึกรายการบัญชีต่างๆ เมื่อเกิดรายการในสมุดบัญชีและทะเบียนคุมหรือบัญชีย่อยเพิ่มเติมตามระบบควบคุมการเบิกจ่ายเงินที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดรวมทั้งทะเบียนคุมอื่นเพิ่มเติมตามความจำเป็น

              5.2 บันทึกรายการรับและนำส่งเงิน (รายได้แผ่นดิน, เงินฝากคลัง) , รายการเบิกเกินส่งคืน , รายการจ่ายเงิน , รายการรับ-จ่ายเงินนอกงบประมาณ , บันทึกล้างลูกหนี้เงินยืม , บันทึกล้างบัญชีพักสินทรัพย์ในระบบ GFMIS   

6. การตรวจสอบและการแก้ไขข้อผิดพลาด 

              6.1 ตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกรายการในสมุดบัญชีและรายการที่เกี่ยวข้องในระบบ GFMIS  จากการรับ-จ่ายเงินในงบประมาณและเงินนอกงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทุกงบ

              6.2 ตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกทะเบียนคุม/บัญชีย่อย กับยอดคงเหลือตามบัญชีจาก งบทดลองในระบบ GFMIS

              6.3 ตรวจสอบความถูกต้องของรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีจากงบทดลอง ในระบบ GFMIS โดยการนำฟังก์ชั่นจากโปรแกรม Excel มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูล โดยใช้ VLOOK UP  ในการตรวจสอบบัญชี    เงินฝากคลัง  ส่วนการตรวจสอบบัญชีอื่น ๆ นอกเหนือจากบัญชีเงินฝากคลังตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีด้วยการทำ Pivot Table เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการตรวจสอบข้อมูลบัญชี

             6.4 การแก้ไขข้อผิดพลาดจากการบันทึกรายการบัญชีไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน โดยจัดทำบันทึกขอปรับปรุงรายการเพื่อบันทึกข้อมูลการปรับปรุงในระบบ GFMIS

               7. จัดทำรายละเอียดยอดคงเหลือและตรวจสอบความสัมพันธ์ของรายการในบัญชีหลักที่เกี่ยวข้องกับรายงานข้อมูลทางบัญชีในงบทดลองจากระบบ GFMIS โดยใช้โปรแกรม EXCEL ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดประกอบรายการบัญชีในงบทดลอง

               8. ปิดบัญชีประจำปี

8.1 ณ วันสิ้นปีงบประมาณต้องทำการปรับปรุงบัญชีเมื่อเกิดรายการตามแนวทางการตรวจสอบและปรับปรุงบัญชีสิ้นปีงบประมาณในระบบ GFMIS เช่น วัสดุใช้ไประหว่างงวดบัญชี เป็นต้น

                    8.2 เรียกรายงานงบทดลองจากระบบ GFMIS เพื่อสอบทานความครบถ้วน ถูกต้องของข้อมูลที่ปรากฏในงบทดลอง ด้วยคำสั่งงาน ZGL_MVT_MONTH

                    8.3 ตรวจสอบบัญชีรายได้แผ่นดินที่ค้างยังมิได้นำเงินส่งคลังและบันทึกปรับปรุงบัญชีรายได้แผ่นดินรอนำส่งคลัง ในระบบ  GFMIS ด้วยคำสั่งงาน ZFV50_SQ

                    8.4 ปิดบัญชีรายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีเข้าบัญชีรายได้สูง(ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม  และบันทึกรายการในระบบ GFMIS ด้วยคำสั่งงาน ZGL_JV

               9. จัดทำรายงานข้อมูลทางบัญชีตามรูปแบบที่ทางราชการกำหนด ได้แก่ รายงานข้อมูลทางบัญชีประจำเดือน , รายงานสรุปข้อมูลทางบัญชีประจำปี , รายงานผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีของส่วนราชการระดับหน่วยเบิกจ่าย , รายงานข้อมูลรายการระหว่างกันของหน่วยงานภาครัฐทุกไตรมาสและรายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

             10. บันทึกข้อมูลการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในระบบ GFMIS

                   เมื่อได้รับอนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัด  จะต้องดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติในระบบ GFMIS โดยใช้คำสั่งงาน ZFMBB_TRN ในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว และใช้คำสั่งงาน FMSA กรณีต้องสร้างรหัสงบประมาณขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการขอเบิกเงินในระบบ GFMIS เพื่อนำมาบริหารตามวัตถุประสงค์การขอใช้เงินต่อไป

5. ผู้ร่วมดำเนินการ         ไม่มี

6. สัดส่วนของผลงานที่ผู้เสนอเป็นผู้ปฏิบัติ  ได้ดำเนินการเองทั้งหมด  ๑๐๐ %

7. ผลสำเร็จของงาน (เชิงปริมาณ/คุณภาพ)  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

เชิงปริมาณ

                    1. วิเคราะห์รายการบัญชี  บันทึกรายการในสมุดบัญชีและทะเบียนคุมเพิ่มเติมตามระบบควบคุมการเบิกจ่ายเงินและตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีจากการเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณและเงินในงบประมาณทุกงบที่ได้รับจัดสรร

                     2. การบันทึกรายการในระบบ GFMIS

- บันทึกรายการการรับและนำส่งเงิน (RA,RB,R1,R2)     จำนวน    347 รายการ

- บันทึกรายการเบิกเกินส่งคืน (BD4,BE,R6)               จำนวน    134 รายการ

- บันทึกรายการจ่ายเงิน (PM)                                จำนวน  1,127 รายการ

- บันทึกการรับ-จ่ายเงินนอกงบประมาณ         (RE,PP)           จำนวน     171          รายการ

- บันทึกล้างบัญชีลูกหนี้เงินยืม (G1)                         จำนวน    121  รายการ

- บันทึกล้างบัญชีพักสินทรัพย์ (AA)                          จำนวน    112 รายการ

3. การจัดทำรายละเอียดยอดคงเหลือพร้อมทั้งตรวจสอบความสัมพันธ์ของรายการในบัญชีหลักที่เกี่ยวข้องกับรายงานข้อมูลทางบัญชีที่ปรากฏในงบทดลองจากระบบ GFMIS จำนวน  12   ครั้ง

4. การปรับปรุงบัญชีเมื่อเกิดรายการในระบบ GFMIS (JV,JR,J7) จำนวน  262 รายการ

 

5. การจัดทำรายงานทางการเงิน  

   5.1 รายงานสรุปข้อมูลทางบัญชีประจำเดือน พร้อมรายละเอียดประกอบ  12 เดือน

   5.2 รายงานสรุปข้อมูลทางบัญชีประจำปี  พร้อมรายละเอียดประกอบ  1 ครั้ง

    5.3 รายงานผลในระบบการประเมินผลตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติราชการ (KRS ) ของกลุ่มงานพัฒนาระบบบริหารราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกรอบการประเมินผู้บริหารองค์กร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตัวชี้วัดที่ 6.8.1 ผ่านเว็บไซต์ http://krs.psdg-obec.go.th  จำนวน 2 ครั้ง

   5.4 รายงานข้อมูลรายการระหว่างกันของหน่วยงานภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  จำนวน 4 ไตรมาส

   5.5 การขอผ่านรายการ ZGL_N6 (ถอนคืนเงินค่าปรับของโรงเรียนในสังกัด), รายงานยอดบัญชีเงินฝากคลัง , แจ้งรายละเอียดการโอนเงินฝากธนาคาร , ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง

6. บันทึกข้อมูลการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณงบลงทุน ในระบบ GFMIS จำนวน  2 ครั้ง

   6.1 ครั้งที่ 1 เป็นเงิน 365,999.00 บาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์จำนวน 13 รายการ

   6.2 ครั้งที่ 2 เป็นเงิน 285,370.00 บาท เพื่อดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 และจัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 2 รายการ

เชิงคุณภาพ

1. การจัดทำบัญชีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 เป็นไปตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่ทางราชการกำหนด  สามารถปฏิบัติงานด้านบัญชีได้ตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระดับหน่วยเบิกจ่าย ดังนี้

    - รอบ 6 เดือน (1 ตุลาคม 2561- 31 มีนาคม 2562) ได้คะแนน 5 จากคะแนนเต็ม 5   

   - รอบ 12 เดือน (1 เมษายน 2562-30 กันยายน 2562) ได้คะแนน 4 จากคะแนนเต็ม 5

2. การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาดำเนินการตามวัตถุประสงค์การขอใช้เงินให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 100

8.  การนำไปใช้ประโยชน์

1. มีข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ มีการเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีสู่สาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทราบข้อมูลทางบัญชีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 สะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน  สามารถตรวจสอบได้

2. ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นเครื่องมือในการประเมินฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทางการเงินของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีการจัดการเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภายในหน่วยงานและส่งเสริม สนับสนุน ให้สถานศึกษาจัดการเรียน การสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดินในภาพรวม 

4. จากการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณงบลงทุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากเกิดประโยชน์กับองค์กรแล้วยังส่งผลต่อผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 และในภาพรวมของจังหวัดลำพูน มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายเงินงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายจ่ายงบลงทุนให้เบิกจ่ายร้อยละ 100

 

 

 

 

9. ความยุ่งยากในการดำเนินการ/ปัญหา/อุปสรรค

1. ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระบบงานมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีในระบบ GFMIS ไม่เพียงพอ  ไม่ได้อบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเฉพาะด้านเพื่อเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการใช้งานหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ ทำให้การบันทึกข้อมูลเข้าระบบของหน่วยงานอาจไม่ครบถ้วน ถูกต้อง หรือเกิดข้อผิดพลาด

2. การสอบทานงานไม่เพียงพอ ไม่สามารถสอบทานได้ทุกรายการเนื่องจากปริมาณข้อมูลที่ต้องตรวจสอบมีเป็นจำนวนมากแต่มีข้อจำกัดด้านเวลาและบุคลากร บางครั้งข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบจากแต่ละแหล่งให้ข้อมูลไม่สัมพันธ์กันและไม่มีการแจ้งให้ชัดเจนว่าต้องตรวจสอบจากเอกสารใด อย่างไร อาจส่งผลให้ข้อมูลทางการเงินและบัญชีเกิดข้อคลาดเคลื่อนได้

3. ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลและการแก้ไขข้อผิดพลาดในระบบ GFMIS มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ เนื่องจากมีข้อมูลและรายงานหลายประเภทที่ต้องตรวจสอบ

4. กฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง  รายละเอียดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS บางเรื่องขาดความชัดเจนยากต่อการนำไปศึกษาและปฏิบัติ  อาจส่งผลให้การปฏิบัติงานเกิดข้อผิดพลาดและกรณีที่เกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS บางเรื่องต้องติดต่อสอบถามหรือรอให้กรมบัญชีกลางให้คำแนะนำหรือแก้ไขให้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าต่อการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่อไป

5. การบันทึกรายการล้างบัญชีพักสินทรัพย์ของหน่วยเบิกจ่ายที่เครื่อง GFMIS Terminal ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่สามารถบันทึกพร้อมกันได้เนื่องจากข้อจำกัดของระบบทำให้การปฏิบัติงานเกิดความล่าช้าหากต้องบันทึกรายการเป็นจำนวนมาก และหน่วยเบิกจ่ายอื่นนำรหัสสินทรัพย์ที่หน่วยงานเป็นผู้สร้างไว้ในระบบไปใช้ในการล้างบัญชีพักสินทรัพย์ส่งผลให้ข้อมูลสินทรัพย์ของหน่วยงานในระบบแสดงยอดไม่ถูกต้อง

10.  ข้อเสนอแนะ

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรได้รับการพัฒนาทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตนเองและจากการเข้ารับการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระบบงานมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ที่เพียงพอ เพื่อให้ข้อมูลทางบัญชีของหน่วยงานมีความถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลทำให้รายงานการเงินแสดงยอดบัญชีแยกประเภทถูกต้อง  เนื่องจากการบันทึกข้อมูลในระบบ GFMIS เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบงานต่าง ๆ

2.  ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ  ความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดทำและการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินและบัญชีเพื่อทดแทนอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ  

3. แต่งตั้งให้มีผู้สอบทานงานและควรมีการจัดอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการตรวจสอบและการแก้ไขข้อผิดพลาดข้อมูลในระบบ GFMIS เพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะเฉพาะด้านให้ผู้ปฏิบัติงาน

4. ทบทวน กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง แนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากแนวปฏิบัติเดิมในระบบ GFMIS ควรมีการจัดทำคู่มือที่รวบรวมคำสั่งงานและคู่มือการปฏิบัติงานพร้อมคำอธิบายที่ชัดเจน ให้สามารถศึกษาและนำมาปฏิบัติเองได้ทันทีที่เริ่มใช้เพื่อลดปัญหาด้านการต้องติดต่อสอบถามซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าต่อการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่อไป

5. กรมบัญชีกลางควรปรับปรุงระบบเกี่ยวกับการบันทึกรายการล้างบัญชีพักสินทรัพย์ของหน่วยเบิกจ่ายที่มีเครื่อง GFMIS Terminal ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้สามารถบันทึกรายการพร้อมกันได้และควรมีการจำกัดสิทธิ์การใช้รหัสสินทรัพย์ที่สร้างขึ้นในระบบเฉพาะผู้สร้างรหัสเท่านั้นเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

 

 

 

 

 

ข้อเสนอแนวคิด/วิธีการเพื่อพัฒนางานหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่อง  การเสริมสร้างองค์ความรู้สู่การปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ให้มีประสิทธิภาพ (Government Fiscal Management informant System) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2

หลักการและเหตุผล    

                   การปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชี   ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  ระเบียบ หลักเกณฑ์และ    แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นผลการปฏิบัติงาน ส่งเสริม สนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหน่วยงาน ต้องมีการจัดการ กำกับ ตรวจสอบและเผยแพร่ความรู้  ความเข้าใจ  เกี่ยวกับหลักการและวิธีการของงานในความรับผิดชอบ  ให้คำปรึกษา  แนะนำ  ปรับปรุงแก้ไข  ติดตาม ในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา  ตอบปัญหาชี้แจงเกี่ยวกับงานในหน้าที่และแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานที่ปฏิบัติ  มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน ใช้ในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชี    

บทวิเคราะห์/แนวคิด/ข้อเสนอ

บทวิเคราะห์

                   ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายปฏิรูประบบราชการโดยปฏิรูประบบงานงบประมาณให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลงาน  ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงิน  กระทรวงการคลังจึงได้ปรับเปลี่ยนหลักการบัญชีภาครัฐจากเกณฑ์เงินสดเป็นเกณฑ์คงค้าง ปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายเงินโดยให้ส่วนราชการมีการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ทั้งยังมีการปรับปรุงระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 , พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 แผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ในโครงการ   e-Payment ภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเงิน การรับเงินและ  การนำเงินส่งคลังของส่วนราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB Corporate Online) ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีความยุ่งยาก ซับซ้อน  ซึ่งต้องใช้การตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาในงานที่รับผิดชอบเป็นประจำ  มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเพิ่มขึ้นทำให้มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย  ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงาน   มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบ  แนวปฏิบัติต่าง ๆ   ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน  ข้อมูลในรายงานการเงินของส่วนราชการมีข้อคลาดเคลื่อนจากการบันทึกข้อมูลไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงานตามระบบ GFMIS มีการสับเปลี่ยน โยกย้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำให้ขาดความต่อเนื่อง   ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องโดยการเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน     ในหน้าที่   ศึกษากฎหมาย  ระเบียบและแนวปฏิบัติต่างๆ  มีการนำความรู้และประสบการณ์มาปรับใช้กับงานในหน้าที่  ศึกษาปัญหา ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อลดกระบวนการปฏิบัติลง  ต้องกำกับ ควบคุม ให้ผู้ปฏิบัติงานบันทึกข้อมูลในระบบ GFMIS ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน โดยข้อมูลจะถูกบันทึกผ่านระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ระบบงานงบประมาณ (FM) , ระบบงานจัดซื้อจัดจ้าง (PO) , ระบบงานเบิกจ่ายเงิน (AP) , ระบบงานรับและนำส่งเงิน (RP) , ระบบงานสินทรัพย์ถาวร (FA) ซึ่งข้อมูลจะเชื่อมโยงไปปรากฏที่ระบบงานบัญชีแยกประเภททั่วไป (GL) เพื่อรวบรวมข้อมูลการเงินการบัญชี  สรุปผลออกเป็นรายงานการเงินให้ส่วนราชการ  

 

 

 

         แนวคิด/ข้อเสนอ        

                   จากการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ที่ผ่านมาพบข้อผิดพลาดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ ทั้งจากตัวผู้ปฏิบัติงานและจากข้อจำกัดของระบบ ประกอบกับระบบราชการมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้ทันสมัย ก้าวทันกับเทคโนโลยี  และจากการที่ระบบบัญชีต้องประมวลผลข้อมูลจากการทำงานของทุกระบบงานในระบบ GFMIS จึงมีแนวคิดที่จะนำหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความรู้และประสบการณ์จริงที่ข้าพเจ้าได้เคยปฏิบัติงานผ่านระบบ GFMIS ในทุกระบบงานมาใช้เพื่อจัดทำคู่มือแนวทางการตรวจสอบการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS สำหรับผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ทันที  เป็นการซักซ้อมความรู้ ความเข้าใจและเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ประกอบการปฏิบัติงานการนำเข้าข้อมูลในระบบให้ถูกต้อง ครบถ้วน มีการปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน เป็นการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อลดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานให้น้อยลงก่อนที่จะมีการประมวลผลข้อมูลทางบัญชี เพื่อให้มีผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชี  โดยมีวิธีดำเนินงาน ดังนี้

1. การวางแผน

   1.1 ศึกษา ระเบียบ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS

    1.2 ศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานรวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละระบบงานในระบบ GFMIS ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 และจัดทำแฟ้มข้อมูล

                       1.3 จัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานเพื่อวางแผนในการจัดทำคู่มือ

2. การดำเนินการ

    2.1 จัดทำร่างคู่มือแนวทางการตรวจสอบการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS แต่ละระบบ ดังนี้

ระบบงานงบประมาณ (Fund Management : FM) , ระบบงานจัดซื้อจัดจ้าง (Purchasing Order : PO) ,  ระบบงานเบิกจ่าย (Account Payable : AP) , ระบบงานรับและนำส่ง (Receipt Process : RP) ,  ระบบงานบัญชีแยกประเภททั่วไป (General Ledger : GL)

   2.2. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในการจัดทำคู่มือร่วมกับบุคลากรในกลุ่มบริหารงานการเงินและสินทรัพย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระบบงาน

   2.3. จัดทำคู่มือโดยมีระยะเวลาดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564

                       2.4. เผยแพร่คู่มือให้กับผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระบบงาน  เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน  ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด

3. การประเมินผล

     3.1  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 สามารถดำเนินการด้านบัญชีได้ตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยเป็นการประเมินผลจากจำนวนเรื่องของข้อมูลทางบัญชีที่ส่วนราชการระดับหน่วยเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์

                       3.2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีคู่มือแนวทางการตรวจสอบการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

 

 

ความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน   

การจัดทำบัญชีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2  ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ที่เน้นการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาและบูรณาการการจัดการศึกษา มุ่งขับเคลื่อนให้ประชากรวัยเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา   สนองมาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2  มาตรฐานที่ 2 การบริหารและจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ  ตัวบ่งชี้ที่ 2 การบริหารด้านงบประมาณ

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีการรับเงินผ่านแบบแจ้งการชำระเงิน (Pay-in) และผ่านเครื่อง EDC รวมถึงการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate online  เป็นการสนองนโยบายของรัฐตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ในโครงการ e-Payment ภาครัฐ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ  แนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  เป็นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ช่วยส่งเสริม สนับสนุนผลการจัดการศึกษาในด้านงบประมาณ การเงิน การบัญชี

2. การปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่ทางราชการกำหนด  มีข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นเครื่องมือในการประเมินฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการจัดการเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภายในหน่วยงานและประโยชน์ในการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดินในภาพรวม

3. เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและมีการควบคุมคุณภาพการปฏิบัติงานด้านบัญชีให้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชี

ตัวชี้วัดความสำเร็จ

1. ระดับความสำเร็จของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 สามารถดำเนินการด้านบัญชีได้ตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยเป็นการประเมินผลจากจำนวนเรื่องของข้อมูลทางบัญชีที่ส่วนราชการระดับหน่วยเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีคู่มือแนวทางการตรวจสอบ การปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

การนำไปปฏิบัติได้จริง

1. บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจในงานที่ปฏิบัติ เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน  ทราบแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีความถูกต้อง  มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริม  สนับสนุนผลการจัดการศึกษาในด้านงบประมาณ การเงิน การบัญชี

2. การปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีถูกต้อง  เป็นไปตามระเบียบและแนวปฏิบัติที่     ทางราชการกำหนด  มีข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้  ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นเครื่องมือในการบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  มีการจัดการเงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภายในหน่วยงาน  ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดินในภาพรวม

3. เป็นคู่มือแนวทางในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 เป็นแหล่งความรู้เผยแพร่ให้แก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร

4. มีการนำโปรแกรมมาประยุกต์ใช้กับงานที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ในการจัดทำข้อมูล  ตรวจสอบข้อมูล  มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานและใช้ในการนำเสนอข้อมูลทางการเงินและบัญชี เป็นการเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีสู่สาธารณะ     ให้ได้รับทราบข้อมูลทางบัญชีอย่างทั่วถึง  ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมีความสะดวก รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อทดแทนอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอรวมถึงส่งผลให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีภาพลักษณ์ที่ดี  มีความน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบได้ และให้การสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

 

ผู้เขียน  นางสาวสุพิชญา  ไชยเมืองดี

หน่วยงาน  สพป.ลำพูน เขต 2

พุธ ที่  4  เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562  

| ดาวน์โหลดเอกสาร | เข้าชม : 769 |
ผู้เขียน : สุพิชญา ไชยเมืองดี
หน่วยงาน : สพป.ลำพูน เขต 2
พุธ ที่ 4 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2562
Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้