ชื่อเรื่อง รายงานการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ตามกระบวนการมีส่วนร่วม
AIC ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
ผู้จัดทำ นางสาวดวงกมล ดวงสุภา นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
ปีพุทธศักราช 2556 – 2558
บทคัดย่อ
รายงานการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ตามกระบวนการมีส่วนร่วม AIC ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานผลการจัดการความเสี่ยงและการจัดการศึกษาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ได้แก่ การส่งเสริมให้สถานศึกษา มีมาตรการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติมีการฝึกซ้อมแผนอพยพและการจัดการศึกษาด้านภัยพิบัติ และการส่งเสริมให้สถานศึกษาสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และร่วมบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ (บ้าน- วัด –ร.ร และองค์กรอื่น) มีวัตถุประสงค์เฉพาะ 1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมส่งเสริม ให้ความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติให้แก่สถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา 2) เพื่อศึกษาความต้องการแนวทางสนับสนุนการจัดการด้านภัยพิบัติในสถานศึกษา 3) เพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ในด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และในการส่งเสริมสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ สถานศึกษาในสังกัดจำนวน 87 โรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา 89 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ คู่มือแนวทางการจัดการศึกษาด้านภัยพิบัติ การประชุมสัมมนาปฏิบัติการ เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาปฏิบัติการและศึกษาดูงาน และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสำรวจความพึงพอใจในการประชุมสัมมนาปฏิบัติการและศึกษาดูงาน รายงานผลการดำเนินการจัดการความเสี่ยงและการจัดการศึกษาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติของสถานศึกษา เครื่องมือนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการความเสี่ยงและการจัดการศึกษาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติของโรงเรียนในสังกัด และแบบสำรวจความต้องการแนวทางสนับสนุนการจัดการด้านภัยพิบัติในสถานศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Microsoft Office Excel 2007
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการจัดการความเสี่ยงและการจัดการศึกษาด้านภัยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ที่จัดให้กับสถานศึกษา ในปี 2556 เมื่อบุคลากรจากสถานศึกษาได้รับความรู้จาก จึงสามารถจัดทำมาตรการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ จัดการเรียนการสอนด้านภัยพิบัติ แผนการฝึกซ้อมอพยพและการฝึกซ้อมอพยพนักเรียน การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย จำนวนทั้งสิ้น 74 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 87.05 และเมื่อได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อเนื่องในระยะต่อมา จึงมีการดำเนินการครบทุกโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 100
2. บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 มีองค์ความรู้ในเรื่อง จัดทำ
แผนเผชิญเหตุ แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย (Hazard map) แผนอพยพ ครบทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100
3. ผลการสำรวจความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ต่างๆ ภาพรวมได้รับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.13, คิดเป็นร้อยละ 82.55)
4. แนวทางแนวทางสนับสนุนการจัดการด้านภัยพิบัติที่สถานศึกษาต้องการมากที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ จัดส่งคู่มือแนวทางดำเนินการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กับสถานศึกษา และจัดกิจกรรมสาธิตวิธีเอาตัวรอด/ วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
5. รูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ในด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และในการส่งเสริมสนับสนุนภารกิจด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา คือ การจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ตามกระบวนการมีส่วนร่วม AIC โดยกลุ่มอำนวยการ กลุ่มนโยบายและแผน ส่งเสริมการจัดการศึกษาและกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา