การพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิการเรียนร่วม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการแต่ละประเภท
5. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ คือเด็กที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตวิทยา บกพร่องนี้เกี่ยวกับทั้งภาษาพูดและทั้งภาษาเขียน เด็กมีปัญหาทางด้านการฟัง การคิด การพูด การอ่าน การสะกดคำ หรือการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ รวมไปถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการรับรู้ แต่ไม่รวมถึงเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางด้านสายตา ทางการได้ยิน และทางการเคลื่อนไหว ปัญญาอ่อนหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ความบกพร่องทางด้านอารมณ์และความเสียเปรียบทางสภาพแวดล้อม
การให้ความช่วยเหลือ
การให้ความช่วยเหลือ ครูผู้สอนจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เด็ก แนะนำทางในการเสริมความเชื่อมั่นให้แก่เด็ก อาจทำได้ดังนี้
1.ให้การเสริมแรงทางบวกแก่เด็ก เมื่อประสบผลสำเร็จ
2.ค้นให้พบความสามารถของเด็กและส่งเสริมความสามารถนั้น
3.ให้เด็กฝึกความรับผิดชอบทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เช่นเปิดโอกาสให้เด็ก ที่มีปัญหาทางการเรียน สอนเด็กที่อ่อนกว่า
4.อย่าเปรียบเทียบเด็กที่ปัญหาทางการเรียนรู้กับเด็กอื่น หรือเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง
5.บันทึกความสำเร็จของเด็ก เพื่อใหเห็นความก้าวหน้า และแนวโน้มของเด็ก
6.ให้โอกาสแก่เด็กได้แสดงความสามารถ
7.เมื่อเด็กทำผิดหรือประสบความล้มเหลว อย่าซ้ำเติม ควรนำความล้มเหลวมาปรับปรุงตนเอง เพื่อให้เด็กมีโอกาสประสบผลสำเร็จต่อไป
8.ส่งเสริมใหเด็กได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ
การเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้กับเด็กปกติ
การเรียนร่วมครูผู้สอนต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หลายประเภท ซึ่งเกิดจากปัญหาทางด้านจิตวิทยา หรือเกิดจากความผิดปกติของมันสมองบางส่วน ดังนั้นการสอนเด็กเหล่านี้จึงต้องใช้วิธีการหลายวิธี ดังนี้
1.ไม่สอนโดยการบรรยายเพียงอย่างเดียว
2.ใช้คำสั่งที่สั้น ชัดเจน เข้าใจง่าย
3.ใช้คำสั่งที่ซ้ำๆ กัน แต่ควรเปลี่ยนคำหรือสำนวนทุกครั้ง
4.ไม่ควรเน้นการเขียน เมื่อครูให้การบ้าน
5.ให้การเสริมแรงเมื่อทำถูกต้อง
6.เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึงเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากทั่วไป และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนนี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเองและของผู้อื่นด้วย พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนเป็นผลมาจากความขัดแย้งของเด็กกับสภาพแวดล้อม หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวเด็กเอง ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ ขาดสัมพันธภาพกับเพื่อนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน มีความคับข้องใจ มีความเก็บกดทางอารมณ์โดย แสดงออกทางร่างกาย ซึ่งบางคนมีความบกพร่องซ้ำซ้อนอย่างเด่นชัด และเกิดเป็นเวลานาน
การให้ความช่วยเหลือ
เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม มีลักษณะของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาคือพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ส่วนความวิตกกังวล การมีปมด้อย การหนีสังคม และความผิดปกติทางการเรียน เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการขัดแย้งในตัวเด็กเอง การให้ความช่วยเหลือ จึงทำได้หลายรูปแบบ ศาสตราจารย์ ดร.ผดุง อารยะวิญญู ( 2541 . 105-107 ) ได้เสนอแนะการช่วยเหลือไว้
3รูปแบบดังนี้
1.รูปแบบทางจิตวิทยาการศึกษา นักจิตวิทยาเชื่อว่าองค์ประกอบทางชีววิทยา และการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กตลอดจนปัญหาทาง
อารมณ์ล้วนมีมูลเหตุมาจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ลงได้คือ ให้เด็กเข้าใจปัญหาของตนเอง และยินดีที่จะหาทางขจัดปัญหานั้นๆ การช่วยเหลือเด็กนั้นครูจะต้องทำให้เด็กเกิดความเชื่อถือ เกิดศรัทธา ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาของตน ดังนั้นการเรียนการสอนจึงควรกระทำเป็นรายบุคคล ควรใช้เกมสถานการณ์จำลอง และกิจกรรมอื่นที่แตกต่างไปจากที่ใช้กับเด็กปกติ จึงจะสามารถช่วยเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ
2.รูปแบบทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาได้ค้นพบพบหลักการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมของเด็ก หลักการปรับพฤติกรรมนี้สามารถนำมาใช้ในการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ตัวอย่างเช่น เด็กอาจจะเรียนรู้โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กปกติ โดยยึดพฤติกรรมของเด็กปกติที่ดีเป็นแบบอย่าง ดังนั้นการปรับพฤติของเด็กจึงควรเน้นและให้ความสนใจพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ไม่ควรได้รับความสนใจ ในการช่วยเหลือเด็กนั้นครูหรือนักจิตวิทยาอาจให้แรงเสริมเพื่อให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น หรืออาจใช้เทคนิคอื่นๆ ในการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลง
3.รูปแบบทางนิเวศวิทยา นักนิเวศวิทยาเชื่อว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน และโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พฤติกรรมของเด็กควรได้รับการยอมรับจากสังคม ในการช่วยเหลือเด็ก ครูควรทำความเข้าใจกับทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นระบบในสังคม ทั้งนี้เพื่อหาทางขจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรม เด็กอาจได้รับการปรับพฤติกรรม แต่นักนิเวศวิทยาเชื่อว่า นั่นยังไม่เพียงพอควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเด็กเท่าที่จำเป็นด้วย และรวมไปถึงการปรับปรุงทัศนคติของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกในชุมชน เพื่อให้มีความเข้าใจและยอมรับเด็กมากขึ้น การปรับพฤติกรรมมีหลายวิธีดังนี้
3.1 เสริมแรงทางบวก อาจเสริมแรงด้วยวาจา เช่นชมเชยเด็กเมื่อเด็กทำเรื่องที่ดีและถูกต้องเป็นต้น ใช้อุปกรณ์เสริมแรง เช่นขนม ของเล่น ของใช้เป็นต้น ควรใช้อย่างสม่ำเสมอในระยะแรก เมื่อพฤติกรรมคงที่แล้วควรลดการเสริมแรงโดยเสริมแรงเป็นครั้งคราว
3.2 เสริมแรงทางลบ เช่นเด็กไม่ส่งการบ้าน ครูดุ ถ้าเด็กส่งการบ้าน ครูเลิกดุ เด็กก็มีแนวโน้มที่จะส่งการบ้านอีก
3.3 การแก้ไขให้ถูกต้องเกินกว่าที่ทำผิด เป็นการแก้ไขผลการกระทำของเด็ก และแก้ไขในปริมาณมากกว่าเดิม เช่นเด็กเล่นขว้างปาสิ่งของในห้องสกปรก ครูใช้เทคนิคปรับพฤติกรรม โดยอาจจะให้เก็บขยะให้เรียบร้อย และจัดโต๊ะในห้องเรียนให้เรียบร้อยเป็นการลงโทษให้ทำงานเพิ่มมากขึ้น
3.4 การเป็นแบบอย่างที่ดี ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เด็กอาจยึดครูเป็นแบบอย่างในหลายด้าน เช่น การพูดจาไพเราะ ขยัน ทำงานเป็นระเบียบ
การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมกับเด็กปกติ
การจัดเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกตินั้น ควรพิจารณาองค์ประกอบสำคัญดังนี้
1.ทัศนคติของเด็กต่อการเรียนร่วม
2.ทัศนคติของครู ผู้ปกครองต่อการเรียนร่วม
3.พฤติกรรมของเด็ก ตลอดจนความรุนแรงของพฤติกรรม
4.ความสามารถของเด็กในการควบคุมตนเอง ตลอดจนทักษะทางสังคมของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคบเพื่อน การเข้ากับคนอื่น
5.ความพร้อมของครู ที่จะรับเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมเข้าเรียนร่วมชั้นปกติ
6.ความร่วมมือจากผู้ปกครองในการปรับพฤติกรรมเด็ก
7.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
เด็กที่เรียนร่วมได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้น ควรเป็นเด็กที่ได้รับการปรับพฤติกรรมแล้ว เด็กมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับเด็กปกติ หากเด็กยังมีปัญหาทางพฤติกรรมอยู่บ้าง ต้องได้รับบริการจากสถานศึกษาในด้านบริการแนะแนวและให้คำปรึกษาหรือรับบริการจากครูเสริมวิชาการ
การประเมินผล
การประเมินผล เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ก็ดำเนินการให้เป็นไปตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล
ผู้เขียน : ชลลดา สะอาดวงค์
หน่วยงาน : กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา
พฤหัสบดี ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2553