ประสานสัมพันธ์สู่ความสำเร็จ
นงคราญ ปัญญาสีห์
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2
“การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือ สามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไปและจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตกาย สุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติและด้วยความถูกต้องตามเหตุผลด้วยจึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วน”
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“หลักสูตร” ดูเหมือนจะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การจัดการศึกษา ไม่บรรลุผลตามความคาดหวังของสังคม ทั้งที่ผ่านมาหลักสูตรได้กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาชีวิตและสังคม อาจเป็นเพราะผู้ปฏิบัติมองว่าหลักสูตรไม่เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนได้คิด ได้ปฏิบัติอย่างอิสระ เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้มีการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร จากหลัดสูตรที่เน้นเนื้อหา ปรับเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐานอันได้แก่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 แต่หลังจากดำเนินการใช้ก็พบว่ายังมีข้อบกพร่อง จึงมีการปรับปรุงหลักสูตรสู่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยปีแรกคือปีการศึกษา 2552 เป็นปีนำร่องใช้ในโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตร ซึ่ง สพท.ลำพูน เขต 2 มีโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตร จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่ง โรงเรียนบ้านม่วงโตน และโรงเรียนบ้านเหล่ายาว ผู้เขียนในฐานะศึกษานิเทศก์ ผู้รับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางฯ มีความมุ่งมั่นในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้โรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตร มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์วิจัยการนำหลักสูตรแกนกลางฯ ไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเป็นศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องหลักสูตรอิงมาตรฐานและเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนการสอน จึงได้น้อมนำพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังที่กล่าวข้างต้น เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงานดังนี้
ประสานสัมพันธ์แรก คือ การประสานผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้องใน สพท.ลำพูน เขต 2 โดยการร่วมปรึกษาหารือ กำหนดแนวทางการดำเนินงาน จัดทำรายละเอียดการดำเนินงาน นำเสนอแนวทาง/ รายละเอียดการดำเนินงานให้ท่าน ผอ. สพท.ลำพูน เขต 2 ได้รับทราบ
ประสานสัมพันธ์ที่สอง คือ การประสานผู้บริหาร คณะครู โรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรโดยการประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างมั่นใจ
ประสานสัมพันธ์ที่สาม คือ การนิเทศ ติดตามแบบกัลยาณมิตร โดยผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศร่วมกัน พิจารณาการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มุ่งให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ใช้เทคนิคบูรณาการการนิเทศหลายวิธีได้แก่
1. สร้างสายสัมพันธ์ (Complement) ผู้นิเทศสร้างสัมพันธ์กับผู้รับการนิเทศ
2. คุยกันฉันมิตร (Question) สอบถามความต้องการในการพัฒนา/ความต้องการให้ความช่วยเหลือ
3. ชวนคิดแก้ไข (Correct) ร่วมปรึกษาหาวิธีแก้ไขปัญหาที่พบ
4. ใช้สื่อสาธิต (Demonstrate) แนะนำสื่อ/วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพของโรงเรียนให้ครูผู้สอน
5. นิเทศแบบสอนแนะ (Coaching) ชี้นำในสิ่งที่ครูยังไม่มั่นใจหรือทำไม่ได้
6. นิเทศในสภาวะการทำงานปกติ (Training in Action) เป็นการนิเทศทางไกลบ้าง ทางตรงบ้าง บางครั้งก็ทางโทรศัพท์ให้คำปรึกษา บางครั้งก็ร่วมกันตรวจสอบงาน บางครั้งก็ส่งเอกสารให้ศึกษาด้วยตนเอง และบางครั้งก็พบปะพูดคุยปรึกษาหารือกันตามโอกาสอันควร
จากการที่มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ว่าผู้นิเทศไม่ได้มานิเทศเพื่อจับผิด แต่มานิเทศเพื่อช่วยเหลือชี้แนะด้วยความจริงใจที่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ พัฒนาคุณภาพการศึกษา เติมเต็มศักยภาพและทักษะของผู้เรียนให้มีความรู้สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมสำหรับสังคมปัจจุบันและทันเทคโนโลยี
สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือความศรัทธา ความเข้าใจ การร่วมคิด ร่วมทำ ความพยายามตั้งใจ มุ่งมั่นของผู้บริหารครูผู้สอน ชุมชนและบุคลากรผู้เกี่ยวข้องที่ต้องการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ดีในทุกด้านดังที่คาดหวังไว้