รายละเอียดผลงานในส่วนที่ปฏิบัติ ผู้ขอรับการประเมินได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการของกฎหมายทุกประการ การดำเนินการทางวินัยกรณีนี้สิ้นสุดเมื่อสำนักงาน ก.ค.ศ. รับทราบการดำเนินการทางวินัยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว
เรื่องนี้ปรากฏขึ้นเนื่องจากโรงเรียนได้รายงานมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่า นางสาวเมตตา ฯ ครู คศ.1 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่การเงินของโรงเรียน ได้เบิกเงินออกจากบัญชีของโรงเรียน รวมเป็นเงินประมาณ 2,003,000 บาท โดยปลอมลายมือชื่อผู้อำนวยการโรงเรียนและไม่มาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2553 ในตอนต้นของเหตุการณ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีนิติกร จำนวน 2 คน ได้แก่ 1) นายเกษมพงษ์ พรหมมา นิติกรชำนาญการ และ 2) นายภูชาวานิช ภูผา นิติกรปฏิบัติการ ผู้ขอรับการประเมิน โดยผู้ขอรับการประเมินได้ปรึกษาฯกับนายเกษมพงษ์ฯแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเกี่ยวข้องกับเงินของทางราชการจำนวนมาก จึงแจ้งให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนตามขั้นตอนแล้วส่งรายงานการสืบสวนมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และให้โรงเรียนขอบุคลากรทางด้านกฎหมายและทางด้านการเงินจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เพราะนางสาวเมตตาฯดำรงตำแหน่งครู ไม่มีวิทยฐานะ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
เมื่อผู้ขอรับการประเมินเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง พบปัญหาความยุ่งยากในการสอบสวนอย่างมาก เพราะว่านางสาวเมตตาฯได้หนีไปจากที่อยู่และไม่มาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่โรงเรียนจะทราบเรื่อง นางสาวเมตตาฯได้นำเอกสารหลักฐานทางด้านการเงินส่วนมากที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ไปด้วย ปัญหาในขณะนั้นจึงมีว่า นางสาวเมตตาฯทุจริตเบิกเงินของโรงเรียนคนเดียวหรือมีคนร่วมกระทำผิดด้วย จำนวนเงินที่แท้จริงที่นางสาวเมตตาฯทุจริตเบิกไปเป็นจำนวนเท่าใดซึ่งจะระคนปนกับจำนวนเงินบางส่วนที่ถูกใช้จ่ายเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียนจริง ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้ขอรับการประเมินไม่ด่วนสรุปและเสนอว่านางสาวเมตตาฯกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ข้อ 2 (2) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินสิบห้าวัน ตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง พ.ศ. 2549 เพราะต้องการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติก่อน ปัญหาเหล่านี้ผู้ขอรับการประเมินในฐานะนิติกรได้ใช้วิชาการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเสาะหาข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารที่มีอยู่จากครูที่ปฏิบัติหน้าที่งานพัสดุและครูที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวัน สอบพยานบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และกรรมการสถานศึกษา จนสามารถได้ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า นางสาวเมตตาฯทุจริตเบิกเงินของโรงเรียนคนเดียวไม่มีผู้ร่วมกระทำผิดด้วย ส่วนจะต้องมีผู้รับผิดชอบเพราะเหตุประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะพิจารณาดำเนินการต่อไป และได้ข้อเท็จจริงที่ยุติอีกว่าเงินที่ถูกนางสาวเมตตาฯเบิกไปโดยทุจริต เป็นเงินจำนวน 3,999,005 บาท
การดำเนินการทางวินัยมีความยุ่งยากอีกในขั้นตอนและวิธีการสอบสวน กล่าวคือ นางสาวเมตตาฯได้หนีไปจากที่อยู่และไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย ผู้ขอรับการประเมินจึงได้ขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านของ นางสาวเมตตาฯจากฝ่ายทะเบียนราษฎร์เพื่อตรวจสอบว่าที่อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนประวัติข้าราชการถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้ที่อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนบ้านถูกต้องแล้ว ผู้ขอรับการประเมินได้แจ้งหนังสือ เอกสารทุกอย่างที่กฎหมายกำหนดให้แจ้งแก่ผู้ถูกสอบสวนทางวินัยทราบ เช่น คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (แบบ สว.1) บันทึก การแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาตามข้อ 23 (แบบ สว.2) บันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาฯ ตามข้อ 24 (แบบ สว.4) คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และเมื่อได้รับใบลงทะเบียนตอบรับ (แผ่นกระดาษสีเหลือง) ของไปรษณีย์แล้ว ผู้ขอรับการประเมินจะเย็บติดกับบันทึกข้อความหรือสำเนาหนังสือที่ส่งไปทุกฉบับ
เมื่อได้ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่านางสาวเมตตาฯทุจริตเบิกเงินของโรงเรียนคนเดียวโดยไม่มีผู้ใดร่วมกระทำผิดด้วย แต่ระยะเวลาการทุจริตเบิกเงินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2553 เป็นระยะเวลา 7 เดือน หากผู้อำนวยการโรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการเงิน ตรวจสอบบัญชีเงินคงเหลือประจำวัน และขอดูสมุดบัญชีธนาคารแล้วย่อมจะทราบได้ว่า เงินของโรงเรียนถูกเบิกไปโดยทุจริต แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชากลับละเลยไม่เอาใจใส่ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิด ความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ผู้ขอรับประเมินในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจึงได้เสนอให้มีการรายงานผลการสอบสวนว่ากรณีนี้พาดพิงถึงผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย และกรณีมีการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดด้วย
ความรู้ ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในงาน
1.1 ความรู้ เกี่ยวกับหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทาง การศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง พ.ศ. 2549 กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550
1.2 ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในงาน การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน การวิเคราะห์พยานหลักฐาน การรับฟังพยานหลักฐาน และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
ผลสำเร็จของงาน
ผลงานเรื่องนี้ใช้เป็นกรณีตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่นิติกรในการดำเนินการทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยต้องตรวจสอบในเบื้องต้นว่า อำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงครูซึ่งไม่มีวิทยฐานะนั้น เป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน และกรณีนี้เป็นการทุจริตเงินของทางราชการ นิติกรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเสนอเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการรสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และแจ้งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ทุจริตด้วย
ข้อเสนอแนวคิดการปรับปรุง/พัฒนางาน
สามารถมาใช้เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องที่มีลักษณะคล้ายกรณีนี้ได้
ผู้เขียน : ภูชาวานิช ภูผา
หน่วยงาน : งานวินัยและนิติการ
พฤหัสบดี ที่ 19 เดือน กันยายน พ.ศ.2556
เข้าชม : 17576